
การประกาศผลแอดมิชชั่นเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา อันถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางแยกที่สำคัญของนักเรียนมัธยมปลายทุกคน หากหลายๆคนยังจำกันได้ มีนักเรียนคนหนึ่งได้กลายเป็นที่รู้จักและสนใจของสังคม ด้วยเธอได้คะแนนแอดมิชชั่นเป็นอันดับ ๑ ของประเทศ และผันตัวจากนักเรียนสายวิทย์-คณิต มาเลือกเข้าเรียนต่อในคณะสายศิลป์ อย่างคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เธอคนนั้นก็คือ ศิรดา ไตรตรึงษ์ทัศนา หรือ ปราง
ปรางจบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษา จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หลักสูตรภาษาอังกฤษ ด้วยผลการเรียนระดับดีเยี่ยม คือมีเกรดเฉลี่ย ๔.๐๐ แต่หากใครคิดว่าเธอจะต้องเป็นเด็กที่คร่ำเคร่งอยู่กับอ่านตำราเพียงอย่างเดียว บอกได้เลยว่าคุณคิดผิด
"คือตอนเข้ามาปรางเข้ามาในภาคภาษาอังกฤษ ก็เข้าร่วมชมรมถ่ายภาพน่ะค่ะ แล้วก็เป็นช่างภาพกีฬาสาธิตสามัคคี แล้วก็ทำกิจกรรมต่างๆตามที่มีโอกาส เช่น ไปแข่งภาษาไทยบ้าง แข่งนู่นแข่งนี่บ้าง จริงๆแล้วปรางไม่ได้เป็นแบบเด็กที่แบบเนิร์ด ต้องอ่านหนังสือตลอดเวลาอะไรขนาดนั้น
ปรางคิดว่าชีวิตมันมีหลายด้าน แต่ขึ้นอยู่กับว่า ณ ตอนนั้น อะไรมันเป็นสิ่งสำคัญที่สุด อะไรที่เราจะต้องรับผิดชอบ ถ้าเกิดว่าเป็นตอนเรียน ก็อาจจะเคร่งเครียดกับการเรียนหน่อย เพราะว่ามันเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เป็น priority ของเรา แต่ตอนปิดเทอมก็จะแบบไปเที่ยวกับเพื่อน ดูหนัง ดูซีรี่ส์ ฟังเพลง อะไรแบบนี้หมดเลยค่ะ"
ชีวิตการเรียนของปราง ก็คงไม่แตกต่างจากนักเรียนทั่วไปนัก เพียงแต่การเรียนในหลักสูตรภาษาอังกฤษ จะเน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ เน้นการคิดวิเคราะห์และตั้งคำถามมากกว่า ทำให้ปรางได้เรียนรู้อะไรที่มักจะคาดไม่ถึงและมีความคิดที่เป็นระบบยิ่งขึ้น
"คือเนื้อหาเนี่ยปรางคิดว่า...ก็คือเรียนตามกระทรวงเลยค่ะ แต่ว่าวิธีการเรียนมันจะแตกต่างออกไปน่ะค่ะ เพราะว่าอย่างปรางเห็นเพื่อนๆ เขาก็จะนั่งท่องไฟลัม นั่งท่องชื่อกันอย่างละเอียดมาก แต่ว่าของปรางเนี่ย วิธีอย่างบทนี้นะคะ ก็คืออาจารย์แบ่งกลุ่ม ทุกคนแบ่งกลุ่มกันไปแล้ว แต่ละคนก็คือทำแต่ละหมวด แล้วก็เป็นกิจกรรมที่แบบมาตอบคำถามกัน แล้วเพื่อนๆก็จะเหมือนกับว่า เวลากลุ่มหนึ่งพรีเซ้นท์ ทุกคนก็จะแกล้งๆถามกันไป แบบสนุกๆ จนสุดท้ายเนี่ย มันกลายเป็นว่าเราได้อะไรขึ้นมาจริงๆ เพราะจริงๆตอนแรกเราก็แค่แกล้งเพื่อนอะไรอย่างนี้น่ะค่ะ แบบเอ๊ย ตอบไม่ได้ อาจารย์ต้องว่าแน่เลย ถามกันไปถามกันมา ปรากฏว่าเราได้อะไรจริงๆ เพราะมันเหมือนกับเป็นการพูดคุย แล้วทุกคนก็จะถามอะไรที่เราไม่เคยนึกถึง เช่นแบบ อ้าว แล้วปลาตีนมีปอดรึเปล่า อะไรแบบนี้ ถามๆกันมา สุดท้ายทุกคนก็ได้ความรู้กันหมด เพราะว่าถามอะไรที่ทุกคนคิดไม่ถึง แล้วเราก็จะไปได้ในเรื่องของเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย หรือว่าแบบเนื้อหาที่มันเป็นแบบนี้น่ะค่ะ ถ้าเกิดว่าเป็นเนื้อหาที่อื่น ปรางเข้าใจว่าเขาก็จะมีตำราแล้วคุณก็ท่องมากกว่า"
ในการเรียนรู้สิ่งต่างๆย่อมมีการจดบันทึกเพื่อช่วยในการจดจำ ยิ่งเมื่อเนื้อหาที่เรียนมากขึ้น การทำสรุปเนื้อหาจึงเป็นตัวช่วยที่ช่วยประหยัดเวลาในการอ่านและช่วยทบทวนความเข้าใจในเนื้อหา น้องปรางเองก็เช่นกัน เธอทำโน้ตสรุปเนื้อหาที่เรียนด้วยความตั้งใจ เลือกใช้สีสันที่ชอบ วาดภาพประกอบที่สวยงามและมีสรุปเนื้อหาเขียนอธิบายประกอบไว้ด้วย เรียกได้ว่าทำให้เนื้อหาที่ยาก ดูเข้าใจง่ายและน่าอ่านไปในทันที เมื่อประกอบกับการตั้งใจเรียนในห้องของเธอแล้ว ก็ทำให้การเรียนกวดวิชาจึงแทบจะไม่จำเป็นสำหรับปรางเลย
"ปรางคิดว่าพอเริ่มเรียนระดับมัธยมไปเรื่อยๆ ยิ่งเรียนสูงขึ้นไปเรื่อยๆน่ะค่ะ เนื้อหามันจะงงมากๆ ถ้าเราอ่านไปอ่านมาบางที เนื้อหาหน้าแรกกับหน้าที่สี่สิบอย่างงี้มันอาจจะเชื่อมโยงกันแต่ว่าเรามองไม่เห็น เพราะว่าเราอ่านมาไกลแล้ว เราไม่รู้เรื่องแล้วตอนนั้น จำได้แค่หน้าที่อ่านอยู่ เพราะฉะนั้นปรางก็จะชอบเขียนลงไป ประมาณว่า โอ.เค. อย่างน้อยถ้าอ่านหนังสือก็จะมีไฮไลท์ มีจดข้างๆว่า มันเชื่อมกันนะ มีความเชื่อมโยงยังไง ทีนี้ด้วยความที่ปรางเป็นคนชอบใช้สี ชอบระบายสี ชอบทำอะไรให้มันเต็มที่ ก็รู้สึกว่า ถ้าปรางทำโน้ตตรงนั้นขึ้นมาปรางจะสามารถใช้ได้อีกหลายปี ก็แบบทำให้มันเต็มที่ไปเลยน่ะค่ะ"
ด้วยการเรียนในระดับดีเยี่ยม อีกทั้งปรางยังเคยผ่านการเข้าค่ายคัดเลือกรอบที่ ๒ ในสาขาวิชาชีววิทยา โครงการส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการฯ (สอวน.) แน่นอนว่าการตัดสินใจเลือกศึกษาในคณะนิเทศศาสตร์ ก็เป็นสิ่งที่เธอต้องทบทวนและถามตัวเองหลายครั้ง เพราะอาชีพที่ดูเหมือนเธอจะรู้จักและคุ้นเคยก็คือ อาชีพแพทย์ ด้วยทั้งคุณพ่อ คุณแม่เองก็เป็นแพทย์ทั้งคู่
"คือจริงๆพอจะต้องตัดสินใจเลือกคณะ ก็คือเป็นจุดที่ค่อนข้างลังเลอยู่แล้ว ไม่ได้ลังเลแค่หมอ แต่ก็อาจจะลังเลไปถึงคณะอื่นๆด้วย แต่ก็สุดท้ายแล้วก็ตัดสินใจเลือกสิ่งที่เหมือนกับเราชอบที่สุด ดีกว่า มากกว่าอย่างอื่นน่ะค่ะ ปรางคิดว่ามันเป็นอะไรที่เหมือนกับจะต้องอยู่กับเราทั้งชีวิต เป็นการตัดสินใจที่สำคัญน่ะค่ะ...
คือปรางจะมีความคิดว่าจะมีเด็กอยู่สองประเภท คือคนที่มีความมุ่งมั่นอยู่แล้ว มุ่งมั่นมาตั้งนานแล้วว่าเขาอยากจะเข้าอะไร กับอีกประเภทหนึ่งซึ่งก็คือปรางด้วย ก็คือเหมือนกับว่ายังไม่มั่นใจว่าตัวเองจะเลือกอะไร ถึงแม้จะเลือกไปแล้วก็ยังมีความไม่มั่นใจอยู่อย่างนั้น เพราะว่าจริงๆเนี่ยเรารู้สึกว่าเราจะต้องเลือกสิ่งที่มันจะติดตัวเราไปอีกนานเลยน่ะค่ะ เราจะต้องอยู่กับมันไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นก็ต้องหาข้อมูลกันดูว่า อันไหนมันเป็นเรามากที่สุด"
การค้นหาในสิ่งที่ตัวเองรักจึงถือเป็นสิ่งสำคัญมากในการตัดสินใจว่าเราจะเลือกเดินไปทางไหนและจะเลือกศึกษาต่อในคณะอะไร คณะนิเทศศาสตร์ก็เป็นคำตอบที่ชัดเจนขึ้นทุกทีในความคิด ดังนั้น ปรางจึงหาข้อมูล ปรึกษาคนรอบข้าง แล้วเลือกสิ่งที่ใช่ตนเองมากที่สุด
"ประกอบกับตัวปรางสนใจเองด้วย แล้วก็ที่โรงเรียนปรางเหมือนกับมีโปรเจ็คท์ให้เขียนเรื่องอาชีพที่ตัวเองอยากทำด้วย ให้หาข้อมูล เราก็ต้องไปสัมภาษณ์คนต่างๆ จริงๆปรางก็สัมภาษณ์ทั้งลูกเพื่อนคุณพ่อ คุณแม่ที่เรียนนิเทศฯทั้งหลาย แล้วก็อาจจะมีรุ่นพี่ที่เขาเรียนทางด้านนี้น่ะค่ะ ก็คือถามคนต่างๆที่เขาอาจจะไม่ได้เรียนแค่จุฬาฯ เรียนลาดกระบัง เรียนที่อื่นด้วยค่ะ แล้วก็ดูว่าอันไหนเป็นแนวเรา แล้วการเรียนการสอนเป็นยังไง แล้วอะไรที่มันใช่ตัวเราที่สุด"
การเข้าศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์ก็เป็นอีกคณะหนึ่งที่หลายๆคนอาจจะมีความคาดหวังให้เด็กที่มีผลการเรียนระดับดีเยี่ยมเรียน ยิ่งน้องปรางที่มีคุณพ่อ คุณแม่เป็นแพทย์ด้วยแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกนักที่เมื่อเธอได้ตัดสินใจที่จะเข้าเรียนในคณะนิเทศศาสตร์ ก็อดมีคำถามถึงคณะแพทย์ตามมาไม่ได้
"ปรางคิดว่าสุดท้ายแล้วเด็กเก่งหรือเด็กที่ทำผลการเรียนได้ดี ไม่จำเป็นที่จะต้องไปเรียนแพทย์นะคะ เพราะว่าสาขาอื่นๆก็ต้องการคนที่เก่งเหมือนกัน เพราะว่าสังคมไม่สามารถอยู่ได้ถ้าเกิดมีแต่หมอ ถ้าทุกคนเป็นหมอแล้ว หมอจะทานอะไร หมอจะอยู่บ้านอะไรล่ะ ในเมื่อมันไม่มีคนอื่นทำ มันก็ต้องมีคนอื่นไปอยู่ตรงอื่นด้วย เพราะว่าสังคมเรามันก็เหมือนกับเป็นกลไก เป็นเครื่องจักร เฟืองแต่ละตัวก็คือเหมือนกับหลากหลายอาชีพ ถ้าเกิดว่าขาดเฟืองไปตัวใดตัวหนึ่ง สังคมก็ไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้ เพราะฉะนั้นมันไม่จำเป็นเลยว่าคนเรียนเก่งแล้วจะต้องไปเรียนหมอ ไม่แน่ว่าคนเรียนเก่งอาจจะรักษาคนไข้ไม่เก่งเท่ากับคนที่มีใจอยากจะไปช่วยเหลือคนจริงๆ คนที่มีใจรักในอาชีพที่เขาทำอาจจะช่วยเหลือคนได้มากกว่าด้วยซ้ำ"
เมื่อน้องปรางตัดสินใจเลือกคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว สิ่งที่ทำได้ต่อมาก็คือการเฝ้ารอผลแอดมิชชั่น รอประตูบานสำคัญที่จะเปิดให้ได้ก้าวเข้าไปสู่ทางฝัน จนวันที่ประกาศผลมาถึง นอกจากประตูคณะนิเทศศาสตร์จะเปิดรับเธอแล้ว ศิรดา ไตรตรึงษ์ทัศนา ยังกลายเป็นนักเรียนที่มีคะแนนแอดมิชชั่นเป็นอันดับ ๑ ของประเทศอีกด้วย
"ก็รู้สึกแปลกใจนะคะ แต่หลักๆคือดีใจที่ว่าติดแล้ว เพราะว่าการประกาศผลแอดมิชชั่นเนี่ย กว่าจะประกาศเนี่ยมันนานมากๆเลยค่ะ จริงๆตัวปรางเองสอบเสร็จตั้งแต่โอเน็ตเดือนกุมภาพันธ์ แต่ว่าเพิ่งมาประกาศประมาณมิถุนาตรงนี้เอง ปรางก็รอมานานมาก เพื่อนๆก็จะนัดกินข้าวกัน ทุกคนไปฉลองกัน ทุกคนติดแล้ว แล้วปรางก็แบบ...เปล่า เรายังไม่ติดเลย อะไรอย่างนี้ค่ะ เป็นภาวะที่มันไม่ได้เครียด แต่ว่าเป็นภาวะที่เรายังไม่ติดอยู่คนเดียวมาเรื่อยๆ พอประกาศแล้วก็ มันหลุดพ้น มันดีใจ
จริงๆคณะนิเทศฯนี่เป็นคณะที่คะแนนสูงมากๆ อย่างตอนแรกจริงๆตัวปรางนี่ก็ยังไม่รู้เลยว่าจะติดรึเปล่า เพราะว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่างแล้วก็จำนวนคนที่รับนี่ก็น้อยมากๆ ทุกคนมากันอย่างเต็มที่จริงๆเลยค่ะ"
พรทิพย์ ไตรตรึงษ์ทัศนา คุณแม่น้องปราง เป็นผู้ที่เห็นการเติบโตและพัฒนาการของน้องปรางมาตั้งแต่เกิด เล่าให้ฟังถึงความรู้สึกเมื่อทราบผลความสำเร็จของลูกว่า
"ก็ภูมิใจค่ะ เพราะจริงๆก็เห็นเขามาตั้งแต่เด็ก เราก็ไม่ค่อยนึกว่าลูกเราจะโดดเด่นอะไรขึ้นมามากนะคะ แต่ก็เห็นแล้วละวาเขามีความมีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบ การบ้านเขา หรือว่าการทำงาน ทำผลงานส่งทุกครั้งที่คุณครูสั่งมา อาจารย์สั่งมา เขาก็จะมีความเต็มที่กับทุกเรื่อง ไม่มีปล่อยให้ทำงานแบบผ่านๆไป โดยที่ไม่มีความตั้งใจ ไม่มีสักชิ้นหนึ่งเลย แต่ละชิ้นที่อาจารย์สั่ง ครูสั่งมาเนี่ยเขาตั้งใจมาก ทำอย่างดีที่สุดนะคะ แล้วผลงานก็ออกมาค่อนข้างดี เราก็เห็นจุดนี้ของลูกว่าลูกมีความตั้งใจดี แล้วก็มีความสามารถในการทำด้วย จนสุดท้ายประกาศผลออกมาว่าเขาได้ที่ ๑ ของคณะนี้ แล้วก็ที่ ๑ ของประเทศด้วย คุณแม่ก็โอ.เค. ภูมิใจในตัวเขา"
ภารกิจต่อไปของปรางเมื่อได้เป็นนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเต็มตัวแล้ว ก็คือเข้าร่วมกิจกรรมรับน้องของคณะนิเทศศาสตร์ซึ่งก็ได้ทำให้น้องปรางรู้ว่า บ้านหลังนี้คือที่ที่ใช่สำหรับเธอจริงๆ
"รู้สึกประทับใจค่ะ ประทับใจมากๆ เพราะเหมือนกับว่าตอนเข้ามา ก็ไม่ได้คิดอะไรมาก เพราะคิดว่า โอ.เค. เราได้เข้ามาเรียนในคณะที่ชอบแล้ว แต่ปรากฏว่าพอเข้าไป มีเรื่องหนึ่งที่เราไม่ได้คิดก่อนหน้านี้คือ คนรอบๆตัวเรา เขาก็เป็นเหมือนเรา ทุกคนมีมุมมองเหมือนกัน ทุกคนชอบในสิ่งที่เหมือนๆกัน เป็นคนแบบเดียวกัน ทุกคนมีความกล้าแสดงออก กล้าบ้าบิ่น แล้วก็ร่าเริงแบบฉบับนิเทศฯ แล้วพี่ๆก็ดูแลน้องดีมากๆ การรับน้องนิเทศฯก็เป็นอะไรที่ไม่เหมือนใคร เพราะว่าจะเป็นการรับน้องแบบ ๕ วัน เราจะต้องแต่งตัว ๕ แบบ ก็เลยรู้สึกว่า มันเหมือนกับเป็นการเริ่มต้นที่คณะ เหมือนกับทุกคนจะต้องแสดงว่าโอ.เค. ฉันนี่แหละนิเทศฯ แล้วทุกคนก็แบบมานิเทศฯใส่กัน รู้สึกสนุกแล้วก็ประทับใจค่ะ"
เส้นทางการเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาถือว่าเป็นทางแยกที่สำคัญอีกทางหนึ่งของชีวิตการศึกษา ฉะนั้นการตัดสินใจเลือกเรียนในคณะใดๆก็ตามก็เป็นสิ่งที่เรียกได้ว่า ไม่เฉพาะแต่ตัวผู้เลือกเท่านั้นที่กังวล แต่บางครั้งคนรอบตัวก็พลอยลุ้นไปด้วย ดังนั้น อีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยในการตัดสินใจอาจจะเป็นการค้นหาตัวเองให้เจอว่าเราจะอยากจะเดินไปในทิศทางไหนในอนาคต
"ปรางคิดว่าตอนนี้สำหรับน้องๆทุกคนเลยไม่ว่าจะ ม.ไหนก็ตาม หรือ ม.๖ ก็ตาม ทุกคนยังมีสิทธิ์อยู่ที่จะค้นหาตัวเอง เพราะว่าตราบใดที่เรายังไม่ได้กดคลิกเลือกคณะไป เรายังมีสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนใจเสมอ มันไม่มีคำว่าสายเกินไปแน่นอน อยากที่จะให้หาตัวเองดีๆ เพราะว่าโอกาสนี้มันอาจไม่ใช่โอกาสเดียวที่เราจะเลือกว่าสิ่งที่อยู่ในอนาคตเราคืออะไร แต่ว่ามันเป็นโอกาสดีที่เราจะเริ่มต้นที่จะทำอะไรที่มันเป็นตัวเรา เป็นโอกาสดีที่เราจะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ แล้วถ้าเกิดว่ามันตรงกับตัวเราก็คงจะดีมากๆนะคะ แล้วก็การที่เราได้สู้เพื่อสิ่งที่เราฝันไว้ สิ่งที่เราอยากเป็นจริงๆ แน่นอนว่ามันมีแรงสู้ มันมีแรงฮึดมากกว่า ซึ่งปรางคิดว่าทุกคนต้องใช้แรงตรงนั้นมากๆ เพราะว่าช่วงเวลาในการแอดมิชชั่น การสอบเข้ามหา'ลัย เป็นอะไรที่เหนื่อย เหนื่อยมากจริงๆ
แล้วก็การอ่านหนังสือ จริงๆก็ไม่ต้องคร่ำเคร่งมากเท่าไหร่ แต่ว่าขอให้มีความรับผิดชอบ รู้ตัวว่านี่เดือนอะไรแล้ว เหลืออีกกี่วัน จะต้องอ่านอีกเท่าไหร่ เนื้อหาเหลืออีกเท่าไหร่ ตรงนี้มากกว่าค่ะ คือคนที่สอบติดไม่ใช่คนที่อ่านถึงตีห้า แต่เป็นคนที่เขารู้ว่าเขาต้องทำอะไร แล้วก็ตั้งใจเรียน แล้วก็สิ่งสำคัญก็คืออย่าลืมเพื่อนๆรอบตัวด้วย เพราะว่าเพื่อนตรงนี้ เขาจะอยู่กับเราจนถึง ม.๖ นี่แหละ พอหลังจากนั้นก็จะเริ่มนัดกันยาก ลำบากยากเข็ญมากๆ ก็อยากที่จะให้รักษามิตรภาพตรงนี้ไว้ แล้วก็พูดคุยกับเพื่อน จูงมือกัน ช่วยกันเดินไปสู่เป้าหมายค่ะ"
ตอนนี้น้องปรางเธอได้ก้าวเข้าไปสู่เส้นทางที่เธอใฝ่ฝันแล้ว แต่เธอก็มีความห่วงใยถึงน้องๆอีกหลายคนที่กำลังจะก้าวมาถึงทางแยกเส้นนี้ในอนาคต อยากให้ทุกคนได้ทำตามความฝัน เธอและครอบครัวจึงตัดสินใจนำโน้ตสรุปความรู้ต่างๆที่เธอทำไปจัดพิมพ์เผยแพร่เพื่อเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นๆต่อไป โดยจุดประสงค์หลักคือการเป็นแรงบันดาลใจและเป็นตัวอย่างหนึ่งของการเรียนรู้
"คือตอนนี้เรามีโครงการเหมือนกับว่าอยากที่จะไปแจกให้กับเด็กมัธยมที่อยู่ไกลๆที่เขาอาจจะไม่มีอินเทอร์เน็ตหรือช่องทางที่จะหาข้อมูล แล้วก็อาจจะมีการเหมือนกับเปิดรับบริจาคทำบุญ เล่มละเท่าไรก็ยังไม่ได้คิดนะคะ แต่ว่าอยากได้เป็นของตัวเอง ก็อาจจะร่วมทำบุญแล้วเอาเงินตรงนี้มาช่วยในเรื่องของการศึกษา
ปรางก็ไม่กล้าการันตีว่าเนื้อหาที่ปรางทำไปมันจะถูกต้อง เพราะบางทีเขียนแล้วแบบ ก็เหมือนเด็กทั่วไป เขียนแล้วหล่น ง.งูหายอะไรอย่างนี้น่ะค่ะ หรือว่าแบบห้าร้อยเขียนเป็นห้าสิบเพราะศูนย์หาย แต่ว่าบางทีปรางเข้าใจของปรางเอง เพราะปรางอ่านมันหลายรอบแล้วปรางก็รู้แล้วว่ามันผิด เป็นการทบทวนตัวเองไปด้วย ก็อยากที่จะให้คนอื่นเห็นแล้วรู้สึกว่า ฉันต้องทำได้ ฉันต้องทำได้เหมือนกันอะไรแบบนี้มากกว่า"
เห็นความคิดดีๆและความตั้งใจดีของปราง-ศิรดา ไตรตรึงษ์ทัศนา เด็กสาวผู้มีคะแนนแอดมิชชั่นอันดับ ๑ ของประเทศคนนี้แล้ว เชื่อว่าเธอต้องเดินถึงฝั่งฝันอย่างแน่นอน