ในท้องฟ้า ไกลแสนไกล ช่วงขณะหนึ่ง มองเห็นเกล็ดดาวร่วง
ใครก็ตามหากได้อ่านงานเขียนของ พิบูลศักดิ์ ละครพล ย่อมจะมีความรู้สึกคิดถึงตัวหนังสือของเขาอยู่ร่ำไป เพราะตัวหนังสือเหล่านั้นเปรียบดังผีเสื้อโบยบินอยู่ในทุ่งชีวิตของเรา หุบเขาแสงตะวัน ได้รับการตีพิมพ์หลายครั้ง เล่มที่ฉันหยิบมาอ่านนั้นเป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่หนึ่ง แรกสุดนั้น หุบเขาแสงตะวัน เขียนลงในนิตยสารสตรีสาร หนังสือรายสัปดาห์คุณภาพเยี่ยม
หุบเขาแสงตะวัน พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก เมื่อสิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๙ โดยสำนักพิมพ์ดอกไม้ มกุฎ อรฤดี เขียนในคำนำว่า
"นี่เป็นงานเล็กๆที่มีความคิด ความหวัง และมีใจตรงกัน เพื่อไปสู่เด็กๆที่ยากจน...
"เกี่ยวกับ พิบูลศักดิ์ ละครพล ผู้อ่านอาจเคยได้อ่านงานของเขามาบ้างแล้วจากนิตยสารหลายฉบับและรวมทั้งที่เคยรวมเล่ม โดยชีวิตส่วนตัวของเขานั้นเป็นครูอยู่ในโรงเรียนเล็กๆกลางหมู่บ้านแห่งจังหวัดแม่ฮ่องสอน หุบเขาแสงตะวันนี้ได้เขียนขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา ระหว่างที่เขาอยู่ที่บ้านป่าลาน
เรื่องทั้งหมดมีพื้นฐานมาจากความเป็นจริง กล่าวได้ว่ามีความสดสวยอยู่ในตัวของมันเองและภาษาที่ใช้
นับเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งของนักเขียนหนุ่มผู้นี้ และผู้อ่านก็คงจะนึกเห็นภาพที่ได้กล่าวถึงในเรื่อง ซึ่งน้อยคนนักจะมีโอกาสได้ไปสัมผัส ไม่ว่าจะอย่างฉาบฉวยหรือจริงจัง"
สำหรับปัจจุบันดินแดนในหุบเขาสูงห่างไกลไม่ได้ไกลลิบอีกต่อไปแล้ว ถนนได้นำความเจริญแก่บ้านเรือนและผู้คนในหุบเขา ชนเผ่าต่างๆในภาคเหนือถูกหลอมกลืนโดยสิ่งที่เรียกว่าการพัฒนา ร่วมกับสิ่งที่เรียกรวมๆว่าความเจริญทางเทคโนโลยี สิ่งเหล่านี้ไม่ทำให้เรื่องราวของครูหนุ่มกับผู้คนในหุบเขาแสงตะวัน สูญหายไปไหน
เรื่องราวในเล่มยิ่งเพิ่มพูนคุณค่าโดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ยังใฝ่ฝันภาพงามของวันเก่าก่อน ซึ่งภาพงามก็คือธรรมชาติอันบริสุทธิ์ทั้งเหล่าสัตว์และพืชนานาพันธุ์ ในเวลานั้นยังไม่ถูกมนุษย์ขยี้ทำลายอย่างไร้เหตุไร้ผล ครูมาชาในเรื่องตัดสินใจเลือกอาชีพครูบนดอยสูงเพื่อสอนเด็กๆที่หมู่บ้านชื่อห้วยคำเซิง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
หนังสือมี ๑๕ บท เชื่อมร้อยเรื่องราวของ ครูมาชา หมู่บ้าน และผู้คน พิบูลศักดิ์ ละครพล เล่าเรื่องเหมือนวาดภาพ เขาบันทึกวิถีชีวิตกับธรรมชาติ สังคมและคนไว้ได้ดีที่สุดในระยะเวลาหนึ่งนั้น ทั้งยังสื่อความหมายของยุคสมัย และการเมืองเรื่องโครงการเงินผันที่เขาได้เขียนถึงหลายครั้ง ซึ่งโครงการเงินผันคือโครงการประชานิยมในยุคแรกๆของสังคมไทย ที่ส่งผลให้เห็นถึงการขาดตกบกพร่องในสังคมเพราะคนที่เห็นแก่ตัว
ครูมาชายังมีความหวัง เขาจึงเลือกโรงเรียนในหมู่บ้านเล็กๆแห่งนี้ ชื่อโรงเรียนห้วยลำเซิง นอกจากครูมาชาแล้ว ยังมี หล้าบุญ เด็กหญิงอายุ 11 ซึ่งเป็นเด็กนักเรียนคนหนึ่งที่ต่อมาครูมาชาได้มาอาศัยอยู่ที่บ้านของเธอ พ่อของ หล้าบุญ ชื่อ ทุนนะ นายทุนนะเป็นคนดี และฉลาดเฉลียว แม่ของหล้าบุญ ชื่อ แสงหล้า แม้จะไม่มีบทบาทมากเท่าไหร่ แต่เธอก็คือแม่ เพศหญิงที่ดูแลลูกเต้าเหย้าเรือน
สามบทแรกของหนังสือเหมือนการฉายภาพมุมกว้างให้เห็นสรรพชีวิตของป่าและหมู่บ้านคนไต ซึ่งใช้ชีวิตแสนจะเรียบง่าย พวกเขาเลี้ยงชีพด้วยการเพาะปลูก ล่าสัตว์ สัตว์ในป่ายังมีมากมายให้คนล่ามาเลี้ยงชีพทั้งในยามปกติและขาดแคลนข้าวปลาอาหาร สิ่งที่ทำให้ฉันตื่นตาตื่นใจในบทแรกๆก็คือบรรดานกต่างๆ พิบูลศักดิ์ ละครพล เขียนถึงนกตัวเล็กๆไว้มากทั้งสัตว์อื่นด้วยอีกหลายชนิดตลอดทั้งเล่ม เมื่ออ่านหุบเขาแสงตะวันก็เหมือนกับได้เรียนรู้สารคดีชีวิตสัตว์ไปในตัว รวมถึงประเพณีความเชื่อและข้าวปลาอาหาร
"นกกระถาบมากกว่าเพื่อน มันเริงร่าถลาปีกโฉบฉวัดตัดไปมาระหว่างทุ่งนา ต้นโพธิ์ใหญ่ริมบ้านกับต้นงิ้วไปหาต้นสัก และต้นไคร้รอบแล้วรอบเล่า พลางส่งเสียงร้อง 'แอ้บๆ' แสบแก้วหู"
"นกกระถาบนั้นบินโฉบฉวัดไม่โบกโบยช้าๆเหมือนนกยาง มันกระพือปีกตบเอาแมงเท่าเข้าปากตัวแล้วตัวเล่า 'มีปีกใหญ่ใช้ประโยชน์อย่างนี้เอง' หล้าบุญนึกถึงที่เขาเอายางเหนียวไปติดตามหลักดักนก มันติดด้วยวิธีนี้แหละ แมลงลงเกาะหลัก มันเข้าตบจึงติดยางหงายหลังอยู่ตรงนั้น"
"มันมาแต่เช้ามืดของทุกวันและร้องเสียงแหลม ดังหนวกหู มันมาป็นคู่ๆ ตัวหนึ่งร้องขึ้น ตัวหนึ่งก็ร้องตาม หงอนสีเหลืองของมันส่ายไปมา มันดูแปลกที่ไม่จับขนานกับกิ่งไม้แต่เอาหัวชี้ขึ้นไปในท้องฟ้า กระโดดหย็องๆจากกิ่งนี้ไปกิ่งโน้น ปากแหลมของมันก็คอยจิกกินตัวหนอน เสียงดังกุกๆกุกๆพอหมดต้นนี้ก็ไปต้นโน้น และส่งเสียงร้องเป็นจังหวะ"
"แซงแซวหางยาวร้องเป็นเพลงแปลกๆติดกัน เพลงแล้วเพลงเล่า หางของมันดำวาวม่วง มันจะบินไล่กันไปมาตามเซิงไม้ แซวตัวเล็กคาบใบหญ้าร่อนไปช้าๆ ทำหางโค้งเป็นบ่วงดูน่าขัน นกหัวขวานก็มากันเป็นคู่ๆ อวดหงอนสีทอง มันบินไม่เร็วนัก นานๆทีจึงจะขยีบปีกยับๆ แล้วก็ร่อนไปพักใหญ่ ทำตัวเหมือนหัวปลีเล็กๆลิ่วไปในอากาศ"
"ไม่ยากหรอก เก็บถั่วมาตาก ถั่วเหลืองนะแล้วก็ทุบเปลือกเอาเม็ด คัดที่เสียๆทิ้งเสีย ต้องฝัดก่อนถึงจะดี แล้วเอาห่อตองสักเก็บไว้บนขื่อ แดดดีๆก็เอาออกตาก เอานึ่งแล้วก็เอาไปตำๆทำเป็นแผ่นๆใส่แตะตากอีกและเก็บไว้กินนานๆ"
ครูมาชาใช้ชีวิตตามอุดมการณ์ การใช้ชีวิตตามอุดมคติเป็นของขวัญชิ้นพิเศษที่คนหนุ่มสาวได้รับ ทั้งยังมีอยู่ล้นเหลือที่จะเลือกใช้ชีวิตตามความฝันและเพื่อให้สังคมดีงาม ครูมาชาเป็นคนหนุ่มที่มีหัวใจอ่อนโยนและเป็นธรรม เขาไม่ได้เป็นเพียงครู แต่ยังเป็นนักพัฒนา เป็นที่ปรึกษา เมื่อเขาไปสอนเด็กๆที่นั่น โรงเรียนจึงสวยงาม เด็กๆมีความสุข เขาขอแรงผู้ใหญ่มาทำสนามฟุตบอลเล็กๆ ทำห้องส้วมและห้องสมุด เด็กนักเรียนชอบใจที่ได้เรียนหนังสือกับครูหนุ่ม ได้ร้องเพลง ได้อ่านหนังสือ
ผู้คนชาวไตในหมู่บ้านหุบเขาแสงตะวัน แม้จะขยันขันแข็งปลูกข้าวปลูกผักล่าสัตว์ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่พวกเขาจะมีข้าวกินทุกมื้อ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติที่เด็กๆหลายคนจะไม่ได้กินข้าวกลางวัน ไม่มีเสื้อผ้า ขาดผ้าห่ม ในหมู่บ้านเล็กแห่งนี้ก็คงคล้ายๆกับหมู่บ้านชนบทอื่นๆ คือเป็นอยู่ง่ายๆและยังขาดแคลน
"ผู้คนแถบชนบทที่ไหนก็เหมือนๆกันแหละ มีความยากจนเป็นเสื้อผ้า"
"ครูไม่โทษเธอเลยว่าเธอโง่ เธอไม่ฉลาดเพราะเพียงเธอมีกินน้อยไปหน่อย และเธออ่านหนังสือไม่ได้ก็เพราะ เธอไม่ได้กินข้าวนั่นเอง"
"หมอกน้ำค้างลงหนาทึบห่มคลุมหมู่บ้านยามกลางคืน ลมหนาวเดือนธันวาคมนั้นพัดมาเหี้ยมโหด แทรกตัวเลียบเลาะเข้าไปตามรอยแตกอ้าของฝาฟาก ตามรูร่องของฝากระดานโหว่ ชำแรกผ่านผืนผ้าที่กร่อนบาง ฝ่าผิวเนื้อส่งความหนาวเข้ากระดูกันแล้ววันเล่า...ปีแล้วปีเล่า...ที่เด็กๆยังหุ้มห่อตัวเองด้วยเสื้อผ้าขาดวิ่น...และคนแก่คนเฒ่าแข็งตายไปเพราะความหนาวเหน็บ"
แม้ความยากจนไม่ใช่โรค แต่มันก็ทำให้เกิดโรคได้มากมาย ทั้งโรคกายและใจ และเหมือนว่าความยากจนนั้นจะต้องคำสาป เพราะความทุกข์ในการเลี้ยงชีพไม่เคยสูญสิ้นไปจากผืนแผ่นดินไทยและแผ่นดินอื่นๆในโลก มหาบุรุษคานธีเคยกล่าวว่า "ทรัพยากรนั้นมีเพียงพอสำหรับคนทุกคน แต่ไม่พอสำหรับคนโลภเพียงคนเดียว"
ตราบที่ยังมีคนเห็นแก่ผลประโยชน์ตนมากกว่า การเผื่อแผ่ให้ผู้อื่น ตัวละครอย่างครูทองสายซึ่งตั้งตนเป็นพ่อค้าคนกลางที่เอาเปรียบมักมากและโลภก็ยังมีอยู่เรื่อยไป นอกจากเรื่องเล่าแสนสวยแล้ว หุบเขาแสงตะวันยังมีความสะเทือนใจทำให้น้ำตารื้อ คือคำพูดของหัวหน้าเผ่าโจ (ก๊างโจ) หรือหมู่บ้านห้วยภูเทา ซึ่งเป็นหมู่บ้านของเผ่ากะเหรี่ยงขาว หรือ 'ยางกะเรอ' หลังจากก๊างโจถูกจับตัวไปเพราะเขาไม่ต้องการส่งคนหนุ่มในหมู่บ้านไปสู้รบอีกแล้ว ครูมาชากับชาวบ้านไตห้วยซางคำช่วยกันร้องเรียนให้ทางการช่วยก๊างโจ หลังจากถูกปล่อยตัวกลับมา ก๊างโจพูดกับครูมาชาได้จับใจว่า
"ข้าไม่รู้ว่าคนเราจะรบกันไปทำไม บนภูเขาหนาวเย็น เด็กๆของข้าไม่มีผ้าห่ม ตอนใกล้รุ่งเราลุกขึ้นก่อไฟผิง ผู้เฒ่าของเราหนาวตาย ไม่มีเสื้อผ้า...ไม่มีอาหารและยารักษาโรค นี่ยังไม่เป็นเหตุผลเพียงพออีกหรือที่ข้าจะเลิกรบ
"กลางคืนมีแต่ความเงียบ ก๊างโจไอเบาๆเคาะกล้องยา ดับฟืนจนมอด และกล่าวขอตัวขึ้นไปนอน ในชั่วขณะหนึ่งนั้นมาชามองเห็นดาวร่วง บนฟ้าไกลแสนไกลโอบอุ้มด้วยความเงียบ"
ฉันเลือกเขียนถึง หุบเขาแสงตะวัน ในมุมของความยากลำบากก่อนเพราะเป็นชีวิตจริง เรื่องปากท้องของคนเป็นเรื่องที่ควรจะต้องใส่ใจเป็นลำดับแรก ถ้าหากท้องยังกิ่วอยู่ทุกๆวันก็ยากที่จะมีความสุขใจ
อีกแง่มุมที่สำคัญของ หุบเขาแสงตะวัน ก็คือความงาม เรื่องเล่าทั้ง ๑๕ ตอนมีชื่อไพเราะ เช่น แม่น้ำสีทองแดง วันที่แสงแดดอุ่น หมู่บ้านแสงตะเกียงวอมแวม ฝูงกาเหนือท้องทุ่ง
พิบูลศักดิ์ ละครพลเป็นกวี มีผู้เรียกเขาว่า 'เจ้าชายโรแมนติค' บทบรรยายของเขาจึงสวยงามตรึงใจ ทำให้ผู้อ่านเห็นภาพและเสียง เรื่องเล่าของเขาเปรียบเหมือนลายถักทอวาวแวมและวูบไหว คล้ายเงาแดด เหมือนเงาจันทร์และเสียงดนตรีใต้ร่มไม้ คราใดที่ลมทอดไกวภาพก็จะเคลื่อนไหวตามแรงลม ให้คนอ่านจมจ่อมอยู่กับจินตภาพในบทบรรยาย
"ฤดูเก็บเกี่ยวผ่านไปนานแล้ว ท้องทุ่งเหลือแต่ซังข้าวแห้งและลานนวดข้าวที่รกร้างว่างเปล่า นานมาแล้วที่กองเกวียนเล่มสุดท้ายได้ขนข้าวออกจากลานเข้าสู่ยุ้งฉางของผู้คนในหมู่บ้าน เมฆสีเงินเจ่าจุกเป็นก้อนๆเหมือนหนแห่งแหล่งความเศร้า ท้องฟ้าสีสดสะอาดและเวิ้งว้าง"
"มันเป็นเช้าวันอาทิตย์ที่ว้าเหว่ แม่น้ำในใสสะท้อนสีของท้องฟ้าลงมา แสแดดจ้า ลมร้อนพัดกรรโชกมาเป็นสัญญาณให้รู้ว่าความแห้งแล้งจะมาเยือนในไม่ช้า เนินทรายริมฝั่งน้ำนิ่ม ฝูงเป็ดลอยคออยู่ในแอ่งน้ำตื้นอย่างสงบเงียบ"
"เหมยหยาดลงบนใบไม้เป็นฝอยฝุยลิ่วๆ เมื่อลมหวีดหวิวมาจากท้องทุ่ง น้ำค้างหยดลงบนหลังคาและใบไม้ดังตุกตักเปาะแปะ พุ่มไม้และทุ่งหญ้าเปียกชื้นไปหมด นกฮูกซุ่มตัวอยู่ตามยอดไม้ มองเห็นแต่ตาวาวๆในม่านหมอก"
หุบเขาแสงตะวันคือดวงตะวันส่องฉาย เป็นวันวานแสนสุขที่ทอดสะพานสายธารความทรงจำมาสู่วันนี้ แม้ดูเหมือนว่าจะห่างไกลกันถึง 40 ปี แต่นักอ่านทุกคนย่อมรู้ว่าหนังสือน่ารักดีๆจะอยู่ให้ห้วงเวลาพิเศษเสมอ นั่นหมายถึงว่าไม่ว่าวันคืนจะเคลื่อนไปอย่างไร หนังสือก็จะตกอยู่ในห้วงผลึกของเวลา บทเพลงความจริงและความงามจาก หุบเขาแสงตะวัน จะแว่วดังขึ้นทุกๆครั้งเมื่อมีคนอ่านหนังสือ
ครูมาชาจะเป็นแรงผลักให้แก่คนหนุ่มสาว วิถีชีวิตของชาวไตกับธรรมชาติที่มีขุนเขาโอบล้อมจะทำให้เกิดความรู้สึกหวงแหนผืนป่าและแผ่นดิน
ยามดึก
ทุกคนเข้านอน
ชายหนุ่มหลับฝันถึงท้องทุ่งกลางหุบเขา
ท้องทุ่งสีทอง
อาบแสงตะวันงามอบอุ่น